ขอเชิญสาธุชน ผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็็นเจ้าภาพ ผ้าป่าสามัคคีเพื่อปรับปรุงสถานีวัดพุทธบูชา จำนวน 500 กอง ๆละ 1,000บาท ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ติดต่อได้ที่ 024264962

19.11.52

สมเด็จพระญาณวโรดม ละสังขาร



สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทร์ ละสังขาร

เช้าวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2552 "สมเด็จพระญาณวโรดม" เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ได้ละสังขารอย่างสงบ ด้วยวัยวุฒิ 93 ปี พรรษา 72 หลังจากเข้ารักษาอาการอาพาธ ด้วยอาการไอมีเสมหะ ก่อนหมดสติลง หัวใจหยุดเต้น คณะศิษย์ได้นำท่านส่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่สุดความสามารถเยียวยาของคณะแพทย์ เนื่องจากเจ้าประคุณชราภาพมาก ยังความเศร้าสลดอาลัยเป็นอย่างยิ่ง

"สมเด็จพระญาณวโรดม" เป็นพระนักเผยแผ่ธรรม ที่ธำรงวัตรปฏิบัติตามแบบพระสงฆ์สายคณะธรรมยุตแท้ๆ อีกรูปหนึ่ง เป็นสมณะผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง มีวัตรปฏิบัติอันน่ายกย่องและศรัทธายิ่งของบรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป

สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สันตังกุโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร, กรรมการมหาเถรสมาคม และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

อัตโนประวัติสมเด็จพระญาณวโรดม มีนามเดิมว่า ประยูร พยุงธรรม เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 4 แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม 2459 ณ บ้านท่าเรือ ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายธูป และนางทองหยิบ พยุงธรรม เป็นบุตรคนสุดท้อง

ช่วงวัยเยาว์เริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุราว 6 ขวบ โดยบิดาเป็นครูสอน ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอ จนจบชั้น ป.5 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด จากนั้นได้มาพำนักที่วัดเทพศิรินทราวาส ตั้งแต่ พ.ศ.2474 และได้บรรพชาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2476 มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมาได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2480 โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณ (อินทร อัคคิทัตตเถร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยธรเพ็ชร ปภังกโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มีม.จ.หญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นอุปัฏฐากเจ้าภาพบวช ณ พัทธสีมา วัดเทพศิรินทราวาส ได้ฉายาว่า "สันตังกุโร" ซึ่งแปลว่า หน่อหรือเชื้อสายหรือทายาทของผู้สงบ และได้อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาสตลอดมา

ด้านพระปริยัติศึกษาท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำหรับภาษาสันสกฤตนั้นได้ศึกษากับตรี นาคะประทีบ ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่นกัน คือนาย สุชีพ ปุญญานุภาพ และสมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรันตโร ป.ธ.9) จนแตกฉาน โดยเฉพาะวรรณ คดีสันสกฤต

สำหรับตำแหน่งหน้าที่การงานและผลงานมีมากมายเหลือคณานับ เป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ในคณะสงฆ์กว่า 100 โครงการ อาทิ ด้านการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนพระสังฆาธิการและจัดหลักสูตรระดับต้นและระดับสูง เป็นผู้ริเริ่มโครงการและดำเนินงาน โดยเปิดอบรมวิชาการนวกรรมกับการพัฒนาชุมชน

เป็นผู้ริเริ่มโครงการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาคและปฏิบัติ โดยการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาค และดำเนินงานโครงการอบรมวิชาเคหพยาบาลแก่ภิกษุ-สามเณรและแม่ชีร่วมกับสภากาชาดไทย ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านเป็นหัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ 7

นอกจากนี้ ยังได้เรียบเรียงจัดแปลและจัดพิมพ์หลักสูตรนักธรรมธรรมศึกษาทุกชั้นเป็นภาษาอังกฤษ สวดมนต์แปลเป็นภาษาอังกฤษ การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในเวลาจำกัดเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน เพื่อเผยแผ่แก่ชาวต่างประเทศ

รวมทั้งงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา การเดินทางไปต่างประเทศจนครบ 6 ทวีป 45 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น

ด้านสาธารณูปการ เป็นผู้ทำและเป็นผู้แนะนำชักจูงให้ทั้งฝ่ายบรรพชิต ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ให้ขุดบ่อ ทำแหล่งน้ำ สร้างถนน ให้แสงสว่าง ปลูกต้นไม้ สร้างศาลาพักร้อน สร้างวัดให้เป็นอารามให้เป็นศูนย์แห่งความฉลาด ให้เป็นแหล่งรวมประชาชน ให้เป็นที่พึ่งของประชาชน ให้ทำห้องสมุดประจำวัด ให้มีพิพิธภัณฑ์ประจำวัด

นอกจากนี้ ได้เปิดอบรมวิชาโบราณคดีและการนวกรรมแก่พระสังฆาธิการเพื่อให้รู้จักคุณค่าของโบราณวัตถุ โบราณสถาน วิธีการสร้าง วิธีการซ่อม เป็นต้น

ขณะเดียวกันได้เป็นประธานในการผูกพัทธสีมา 25 วัด ในประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดชีวิตของสมเด็จพระญาณวโรดมได้ทุ่มเทเวลาให้กับผลงานด้านวรรณกรรมมากมาย ได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือเรียน หนังสือธรรมะ หนังสือท่องเที่ยวอิงธรรมะแบบใหม่ อ่านเข้าใจ สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ หนังสืออ่านสำหรับวัยรุ่นกว่า 30 เล่ม บางเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ นับว่าเป็นผู้คงแก่เรียน และเป็นนักเขียนฝีมือดีท่านหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย

ด้านการปกครองคณะสงฆ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อีกมากมาย

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2495 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิญาณ, พ.ศ.2500 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชสุมนมุนี

พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพกวี พ.ศ.2515 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมธัชมุนี

พ.ศ.2528 เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏ ที่พระญาณวโรดม

วันที่ 5 ธันวาคม 2546 ทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระญาณวโรดม

สมเด็จพระญาณวโรดม เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร มีความรอบรู้ทั้งในทางคดีโลกและคดีธรรม เป็นพระมหาเถระนักบริหารชั้นสูงรูปหนึ่งของเมืองไทย ทั้งในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม ขณะเดียวกันยังดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นพระมหาเถระผู้มีความรู้ความสามารถในการบริหารระดับสูง

แต่ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ บ่อยครั้งทำให้ท่านอ่อนแรง สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งเกิดล้มป่วยอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต สมเด็จพระญาณวโรดมได้มรณภาพจากไปด้วยอาการอันสงบ

ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เวลา 13.00 น. คณะสงฆ์วัดเทพศิรินทร์และคณะศิษย์ได้เคลื่อนศพท่านจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตั้งศพไว้และประกอบพิธีบรรจุศพลงในโกศพระ ราชทาน ณ ศาลากลางน้ำวัดเทพศิรินทร์

ทันทีที่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ คณะครูอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ได้ทราบข่าว ต่างมารอกราบศพเจ้าประคุณสมเด็จ ณ ศาลากลางน้ำวัดเทพศิรินทร์ ทั้งนี้ บรรยากาศ เป็นไปด้วยความเศร้าสลด คณะศิษยานุศิษย์ บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่

ในการนี้พิธีดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาธิ คุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นเวลา 7 วัน พร้อมด้วยเครื่องประดับสมณศักดิ์ และโกศไม้สิบสองพระราชทาน

วันเดียวกันนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราช ดำเนินไปพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานของท่าน ควรค่าที่สาธุชนทั่วไปจะได้ยึดถือเป็นทิฏฐานุคติเป็นแบบอย่าง

แม้สังขารท่านจะดับสูญ แต่คุณงามความดีและบารมีธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จ ยังคงปรากฏอยู่ไม่เสื่อมคลาย
ข้อมูลจาก..http://www.itti-patihan.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น


fm10025.blogspot.com